ครม.เห็นชอบพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาระดับตำบลให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ประจำเขตตรวจราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี 6 แห่ง
วันที่ 5 ตุลาคม 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ดำเนินการดังนี้คือ พัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษา(ระดับตำบล) ให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ประจำเขตตรวจราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี 6 เขต จำนวน 6 แห่ง เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา รวมถึงการจัดการเรียนการสอนด้าน STEM
โดยทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย เขตตรวจราชการที่ 3 ครอบคลุมจังหวัดเขตพื้นที่บริการ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี, เขตตรวจราชการที่ 9 ครอบคลุมจันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว, เขตตรวจราชการที่ 12 ครอบคลุมกาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด, เขตตรวจราชการที่ 14 ครอบคลุมยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี, เขตตรวจราชการที่ 15 ครอบคลุมเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน, และเขตตรวจราชการที่ 18 ครอบคลุม กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี
ขณะเดียวกันครม.ยังได้เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าวจำนวน 3,275.958 ล้านบาท หรือแห่งละประมาณ 545.993 ล้านบาท ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565-2569 รวมระยะเวลา 5 ปี ส่วนระยะต่อไปให้ขอจัดตั้งงบประมาณประจำปีตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ ยังให้ปรับปรุงแก้ไขจังหวัดเขตพื้นที่บริการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับจำนวนโรงเรียนและบริบทเชิงพื้นที่ ภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม ระบบราชการ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินการ พร้อมทั้งดำเนินการจัดระเบียบโครงสร้างการบริหารงานกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ให้เกิดเอกภาพ มีความเป็นอิสระ คล่องตัว มีประสิทธิภาพในการบริหารงานบุคคล วิชาการ งบประมาณ และบริหารทั่วไปเพื่อเป็นต้นแบบต่อไป
ให้มีคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีอำนาจหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะ หรือคำแนะนำการบริหารงานและการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย แก่กระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และหน่วยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการกำหนดนโยบาย ทิศทาง การพัฒนา กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
นอกจากนี้ ครม. ให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นและข้อสังเกตของหน่วยงานต่างๆ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยกระทรวงการคลังขอให้มีการให้ความสำคัญกับการควบคุม กำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ สำนักงบประมาณให้พิจารณาการดำเนินการให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูประบบการศึกษาในภาพรวมการพัฒนาประเทศในทุกมิติ